เฝ้าระวัง 3 โรคติดต่อปี 62 “ไข้หวัดใหญ่ – หัด – ไข้เลือดออก”


กรมควบคุมโรค พยากรณ์ 3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562 โดยข้อสรุปจากวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา สถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ  ดังนี้ การพยากรณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่

1.โรคไข้หวัดใหญ่ การพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจะมีผู้ป่วย 177,759 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี 2561 โดยในช่วงต้นปี (ม.ค.-มี.ค.) จะมีผู้ป่วยประมาณ 13,000-15,000 ราย และช่วงฤดูฝน (ก.ค.-พ.ย.) จะมีผู้ป่วยประมาณ 15,000-25,000 ราย  กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ  3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

2.โรคหัด การพยากรณ์โรค ปี 2562 หากมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มแข็ง มีความครอบคลุมของวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และมีการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง คาดว่าจะมีผู้ป่วยสงสัยโรคหัด 1,003 ราย  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ปกครองพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง

3.โรคไข้เลือดออก การพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 94,291 ราย และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนเมษายน และอาจพบสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

สำหรับการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน   เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก  โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะกรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ข้อมูลจาก : สำนักระบาดวิทยา / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

โทรศัพท์ 0-2590-3859 / วันที่ 12 ธันวาคม 2561

 

 

10 งานมาแรง